เมลโล่ น้องเหมียวผู้โชคร้ายตรวจพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง..

เมลโล่ เป็นแมวพันธุ์ DSH เพศผู้อายุประมาณ 1 ปี  เคยตรวจพบว่าเป็นไวรัสลิวคิเมียอยู่ก่อนแล้ว

เมลโล่เข้ามารักษาตัวที่ vet 4 มีอาการหอบมา เมื่อคุณหมอเอกซเรย์ช่องอก พบว่ามีน้ำในอกได้มีการเจาะระบายน้ำพร้อมทั้งได้นำตัวอย่างน้ำจากในช่องอกส่งตรวจเซลล์วินิจฉัย สีของน้ำที่ได้จากช่องอกพบว่าเป็น สีน้ำล้างเนื้อจางๆ 


ผลเอ็กซเรย์พบถุงน้ำในช่องอก

หลังเจาะอกได้มีการเอกซเรย์ช่องอกซ้ำอีกครั้งพบว่า พบเนื้องอก ที่ตำแหน่งกึ่งกลางด้านหน้าของช่องอก ผลการตรวจเซลล์วินิจฉัยพบว่ามีเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 


เซลมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

หลังได้ผลการวินิจฉัยที่ชัดเจน แล้วได้มีการเริ่มให้เคมีบำบัดทันที พบว่าหนึ่งสัปดาห์หลังให้เคมีบำบัดเมลโล่มีการหายใจที่ดีขึ้นมากไม่มีอาการหอบ แผนการรักษาของเมลโล่จะคงการให้เคมีบำบัดแก่เมลโล่สัปดาห์ละครั้งจนกว่าเนื้องอกจะยุบตัวเป็นปกติมากที่สุด เมื่อพบว่ามะเร็งยุบตัวดีแล้ว การให้เคมีบำบัดจะยังคงให้ต่อไปแต่ยืดระยะเวลาออกไปนานมากขึ้นเป็นทุกสามสัปดาห์ ให้จนกว่าจะมั่นใจได้ว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะไม่ขึ้นใหม่อีก

Mediastinal lymphoma

เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบได้ในช่องอกด้านหน้ากึ่งกลางลำตัวของแมวหรือตรงตำแหน่งต่อมไทมัส การเกิดมะเร็งที่ตำแหน่งนี้ พบได้ 10-20% ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบในแมว

สาเหตุของโรค

มากกว่า 80 %ของมะเร็งชนิดนี้ มักเกี่ยวข้องกับการที่แมวเป็นไวรัสลิวคิเมีย เนื่องมาจากเชื้อไวรัสสามารถทำให้เซลเม็ดเลือดขาวกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

อาการของโรค

แมวมักมาด้วยอาการหอบ หรือหายใจลำบาก เนื่องจากมีก้อนเนื้อขนาดใหญ่ในช่องอก หรือมีน้ำในช่องอกร่วมด้วย นอกจากอาการทางเดินหายใจแล้ว บางครั้งอาจพบ อาการกลืนลำบากสำรอกหลังกิน เนื่องจากก้อนเนื้องอกมีการไปกดเบียดหลอดอาหารได้ ส่วนอาการไม่จำเพราะ เช่น ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ สามารถพบร่วมด้วยได้เช่นกัน

การตรวจวินิจฉัย

อาจมีการเอกซเรย์ช่องอก หรืออัลตร้าซาวน์ช่องอกร่วมด้วย และความมีการยืนยันผลด้วยเซลล์วินิจฉัยหรือแม้กระทั่งการเก็นชิ้นเนื้อส่งตรวจร่วมด้วย

การรักษา

ในเบื้องต้นถ้าพบน้ำในช่องอก ควรมีการเจาะระบายน้ำในช่องอกก่อน หลังจากได้ผลการยืนยันว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็พิจารณาเริ่มให้เคมีบำบัด ในบางครั้งถ้ามีการตอบสนองที่ไม่ดีอาจมีการฉายแสงร่วมด้วย

การพยากรณ์โรค

ในแมวที่ไม่เป็นไวรัสลิวคิเมียพบว่า ให้ผลการรักษาที่ดีกว่า แมวที่เป็นไวรัสลิวคิเมีย 

บทความโดย

สพ.ญ.ณัฐนันท์ สุนทรเสนาะ (หมออ๋อม)
สัตวแพทย์เฉพาะทางโรคแมว
โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
โทร 02-953-8085-6 หรือ Line: @vet4
www.vet4hospital.com
FB/IG/Twitter: @vet4hospital

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม