สุนัขท้องผูกทำอย่างไร...?


เคยลองสังเกตน้องหมาดูหรือไม่ ว่าแต่ละวันสุนัขของเราขับถ่ายบ่อยแค่ไหน มีอาการเบ่งถ่ายหรือไม่ จำนวนของอุจจาระที่ออกมาแต่ละครั้งมากน้อยเพียงใด และลักษณะของอุจจาระแข็งเกินไปหรือเปล่า เราต้องเข้าใจก่อนว่าการขับถ่ายก็เหมือนเป็นการขับของเสียออกจากร่างกาย หากมีการขับถ่ายปกติก็บ่งบอกได้ถึงภาวะร่างกายที่ปกติ แต่ถ้าหากไม่มีการขับถ่ายออกมาหละ? ก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บอกว่าเริ่มมีปัญหาทางด้านสุขภาพแล้ว

ท้องผูกคืออะไร? 

ท้องผูก คือ ภาวะปัญหาที่สุนัขไม่สามรถขับถ่ายอุจจาระได้ปกติ 3-4 วันแล้วสุนัขไม่มีการขับถ่ายและแสดงอาการปวดเบ่งอุจจาระเป็นเวลานาน หรือุจจาระออกมามีลักษณะเป็นก้อนแห้งแข็ง บางตัวที่ท้องผูกนานๆ อาจมีอาการอาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจต้องพามาพบสัตวแพทย์

หมั่นสังเกตุอาการของสัตว์เลี้ยง

สาเหตุของการท้องผูก

สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ ซึ่งเกิดจากการได้รับอาหารที่มีกากใยน้อย การกินน้ำน้อย จึงทำให้การกระตุ้นลำไส้ใหญ่มีน้อย อุจจาระจะเหนียวและแข็งทำให้อุจจาระถูกขับออกมาได้ยาก การที่อุจจาระไม่ถูกขับออกมาเป็นเวลานานๆ จะมีการดูดน้ำออกจากลำไส้ใหญ่ส่วนท้ายมากขึ้นเรื่อยๆ จนก้อนอุจจาระแข็ง จึงใช้เวลานานในการขับอุจจาระออกมา นอกจากนี้สามารถเกิดจากสาเหตุที่เจ้าของให้กินเศษกระดูกที่ย่อยยาก หรือตัวสุนัขเองชอบแทะก้อนดินก้อนกรวด เศษผ้า เศษพลาสติก ทำให้ทางเดินอาหารอุดตัน เพราะอาหารย่อยไม่ได้ หรือบางตัวเคยประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชนกระดูกสันหลังหัก กระดูกเชิงการหัก ทำให้ระบบการขับถ่ายมีปัญหาได้

เลือกกินอาหารที่เหมาะสม


จะแก้ไขและป้องกันการเกิดท้องผูกได้อย่างไร?

เราต้องทราบสาเหตุก่อนว่าอาการท้องผูกนั้นเกิดจากอะไร หากเกิดจากอาหารก็ควรแก้ไขโดยการปรับเปลี่ยนอาหาร เลือกอาหารที่เพิ่มกากใยอาหาร (fiber) สูง ให้กินน้ำมากๆ ห้ามให้พวกกระดูกเพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ได้ ในสุนัขที่ท้องผูกไม่มากเราอาจใช้น้ำสบู่อุ่นๆ หรือ liquid paraffin ช่วยหล่อลื่นทางทวารเพื่อทำให้อุจจาระนิ่ม ซึ่งอาจให้ยาระยาบควบคู่ไปด้วย แต่ถ้าอาการท้องผูกค่อนข้างรุนแรงควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจและรักษาโดยเร็วที่สุดค่ะ เพราะเป็นกรณีที่เป็นอันตราย อาจต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขทั้งนี้ขึ้นกับการพิจารณาของสัตวแพทย์ แม้ว่าอาการท้องผูกอาจดูไม่รุนแรง แต่เป็นอาการเรื้อรังที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งลำไส้ได้

กินอาหารที่มีกากใย (Fiber) สูง

งดกินกระดูกแข็ง ๆ อาหารที่ย่อยยาก

บทความโดย


สพ.ญ.สุนิสา เถาว์มูล(หมอเฟิร์น)
สัตวแพทย์คลินิกอายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
โทร 02-953-8085-6 Line: @vet4


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม